วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

อาชีพช่างเฟอร์นิเจอร์ไม้ ตอนที่ 2 - ประเภทของเครื่องเรือน





แบ่งประเภทเครื่องเรือน จากวัสดุที่ใช้ในการผลิต
1.) เครื่องเรือนไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้แดง
     เครื่องเรือนที่ผลิตจากไม้เนื้อแข็ง โดยส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีความแข็งและมีความคม เช่น ใบเลื่อยต้องใช้แบบที่แข็ง จึงจะสามารถตัดไม้เนื้อแข็งได้ ยกเว้น ไม้สัก ซึ่งเป็นไม้ที่อยู่ในกลุ่มที่เนื้อไม้ไม่ได้แข็งมากนัก และง่ายต่อการแกะสลัก หรือ กลึงให้เป็นรูปทรง ไม้เนื้อแข็งที่ใช้ๆกันอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นไม้นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า ลาว เขมร มาเลเซีย เป็นต้น ส่วนไม้สักที่ใช้กันในไทย ก็นิยมนำเข้าจากพม่า หรือไม่ก็ใช้ไม้สักป่าปลูก หรือ ที่เรียกว่าไม้สักสวนป่า ซึ่งไม้จะค่อนข้างอ่อน มีกระพี้อยู่ ทำให้ลวดลาย หรือ สีสรรดูยังไม่ค่อยจะสวยงามมากนัก

2.) เครื่องเรือนไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ยางพารา
    สำหรับงานเฟอร์นิเจอร์ส่งออก นิยมใช้ไม้ยางพารามาก เพราะไม้ยางพาราที่ผ่านการอบและอัดน้ำยา ทำให้เนื้อไม้มีความแข็งแรงที่เหมาะแก่การทำเครื่องเรือน และป้องกันพวกปลวกและมอดได้ดี ปัจจุบันไม้ยางพาราก็มีแนวโน้มที่จะมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก ชาวจีนหอบหิ้วเงินสดมาซื้อไม้ยางพาราของไทยกลับไปทำเฟอร์นิเจอร์ส่งกลับมาขายในไทย  นอกจากนี้เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราก็นิยมส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย อาทิ ญี่ปุ่น
นอกจากนี้ในบ้านเรา ก็นิยมใช้ไม้สน(เกรดไม้พาเลท) ไม้ฉำฉา (จามจุรี) ในการทำเครื่องเรือนที่ราคาค่อนข้างถูก ข้อดีคือราคาค่อนข้างจะถูก แต่มีข้อเสียอยู่ตรงที่ เมื่อใช้ไปนานๆ ไม้จะเป็นขุยๆ และอายุการใช้งานไม่ค่อยยาวนานมากนัก
ส่วนไม้สนเรดิเอต้า ไม้สนนิวซีแลนด์ ก็เป็นอีกเกรดนึง คือ ราคาก็จะสูงกว่าไม้ยางพารา และนิยมนำไปผ่านกระบวนปรับโครงสร้างของไม้ด้วยการใช้ความร้อน (Heat Treatment / Thermo Treatment) เพื่อให้ไม้มีความแข็งแกร่ง ไม่ผุง่าย และแมลงไม่กิน

3.) เครื่องเรือนที่ทำจากหวาย
  ปัจจุบันมีทั้งหวายแท้ และหวายเทียม , หวายเทียมนิยมนำเข้าจากต่างประเทศ และมีคุณสมบัติในการทนทานต่อแสงแดด น้ำ สามารถใช้งานกลางแจ้งได้ ต่างจากหวายแท้ ที่ใช้ได้แต่ในร่มเท่านั้น

4.) เครื่องเรือนที่ทำจากไม้แผ่นเรียบ เช่น ไม้อัด ไม้ปาร์ติเกิ้ล เอ็มดีเอฟ(หรือชื่อไทยเรียกว่า แผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง)

คุณสมบัติของเครื่องเรือนที่ทำจากไม้อัด ค่อนข้างจะแตกต่างจาก ไม้ปาร์ติเกิ้ลหรือเอ็มดีเอฟ  ไม้อัดผลิตขึ้นมาจากการปลอกเนื้อไม้เป็นแผ่นแล้วนำมาอัดซ้อนๆกัน ไม้อัดถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อประหยัดทรัพยากรประเภทไม้ หรือเรียกว่าใช้ไม้ให้มีประโยชน์สูงสุด ส่วนใหญ่ไม้อัดที่มีความหนา คุณสมบัติเชิงกลของไม้จะเทียบเท่ากับไม้จริงที่มีความหนาเท่าๆกัน หรือบางครั้งอาจจะแข็งแกร่งกว่าสำหรับไม้อัดที่มีการเรียงตัวของชั้นเยอะๆ  ซึ่งเครื่องเรือนที่ผลิตจากไม้อัดนี้โดยมากนิยมใช้ไม้จริงมาทำเป็นโครงและกรุด้วยไม้อัดที่บางๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต สภาพภายนอกจะไม่แตกต่างจากการใช้ไม้จริงมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ โดยไม้อัดจะนำไปใช้สำหรับทำพวกแผงตู้ หน้าโต๊ะเป็นต้น นอกจากนี้ ไม้อัดยังต้องการ การทำสี แบบเดียวกับไม้จริงทั่วไป

ส่วนในกรณีของงานปาร์ติเกิ้ล (เกิดจากไม้สับ หยาบและสับละเอียด นำมาซ้อนกันเป็นชั้น) และ MDF นี่นิยมจะใช้ที่เป็นแผ่นๆตามความหนาเลย เพราะราคามันค่อนข้างถูกอยู่แล้ว  และผิวหน้าของไม้ทั้ง 2 อันนี้จะมีอยู่หลายชนิด ตั้งแต่ถูกสุดคือ ผิวกระดาษ (หรือเรียกว่า ฟอล์ย) ผิว PVC และ ผิวเมลามีน ซึ่งมีคุณสมบัติที่ทนการขีดข่วน และ ทนต่อสารเคมี  โดยผิวต่างๆเหล่านี้ มีทั้งแบบที่เป็นสีพื้นๆ และเป็นลายไม้ ข้อเสียๆหลักๆคือมันอ่อนแอต่อความชื้น หากอยู่ในที่ๆมีความชื้นสูง อาจจะทำให้เกิดอาการ "บวม" อย่างที่ทราบๆกันในช่วง น้ำท่วมนั่นเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น