วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Wood Joint

Wood Joint

ในปัจจุบัน วัตถุดิบไม้ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไม้ต่างๆ ภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ผลิต ดังนั้น การใช้ทรัพยากรไม้อย่างมีคุณค่าและประหยัดต้นทุนจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในส่วนของเทคโนโลยีงานไม้นั้น ส่วนมากก็จะมีการคิดค้นเทคนิคในการผลิตอย่างประหยัดทรัพยากรให้มากที่สุด หนึ่งในวิธีการที่จะสามารถใช้ประโยชน์ไม้ให้ได้มากที่สุด คือ การประสานไม้ที่เรียกกันว่า Finger Joint และ Butt Joint
ในส่วนอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ย่อมรู้จักงานประเภทนี้เป็นอย่างดี เพราะเป็นวิธีต่อไม้ในด้านความยาวที่ให้ผลงานที่ดีและมีความแข็งแรง ทั้งยังเป็นการเก็บเอาเศษท่อนไม้ที่ไม่ได้ขนาดความยาวที่ต้องการในงานหลักออกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าอีกด้วย หลักการง่ายๆ เพียงแค่นำหัวไม้แต่ละด้านของความยาวมาขึ้นรูปเป็นฟันถี่ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่จับยึด จากนั้นทากาวแล้วนำมาประสานเข้ากับหัวไม้อีกท่อนหนึ่ง ต่อกันไปเรื่อยๆ จนได้ความยาวที่ต้องการ ซึ่งไม้ที่ประสานเสร็จแล้วก็จะช่วยลดในเรื่องของการเหลือเศษไม้ทิ้ง และช่วยประหยัดต้นทุนอีกด้านหนึ่ง

ส่วนศัพท์เฉพาะ Finger Joint กับ Butt joint  นั้น ถ้าจะเรียกให้ถูกคือ Vertical Finger Joint กับ Horizontal Butt Joint ซึ่งในบ้านเราส่วนใหญ่จะเหมาเรียกรวมว่า Finger Joint ซึ่งจริงๆแล้วถ้าเราจะทำการต่อไม้ควรพิจารณาปัจจัยของลักษณะชิ้นงานและจุดประสงค์ในการใช้งานมาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะขออธิบายคร่าวๆ ดังนี้

Vertical Finger Joint ในตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้จากงานประเภทนี้มีให้เห็นในตลาดโดยทั่วไป เพราะมีการผลิตมากกว่า Horizontal Butt Joint ซึ่ง Vertical แปลว่าแนวตั้ง ก็คืองาน Vertical Finger Joint เป็นการทำซี่ไม้ในแนวตั้ง สามารถเห็นรอยต่อเป็นซี่ไม้ชัดเจนในสินค้าเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ

งานเฟอร์นิเจอร์ไม้ในลักษณะนี้เป็นที่ถูกใจตลาดญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นตลาดที่เข้าใจว่าการต่อไม้เป็นเรื่องปกติของแนวคิดในการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ ตลาดทางญี่ปุ่นจึงรับได้กับการแสดงรอยแผลการต่อไม้ออกมาบนหน้าโต๊ะ หรือส่วนอื่นของเฟอร์นิเจอร์ที่มีการโชว์ผิวไม้ออกมา
มองในทางกลับกัน ถ้าต้องการเฟอร์นิเจอร์ที่สวย มีความเรียบร้อยไม่มีรอยในการต่อที่เห็นได้เด่นชัด มีสีสม่ำเสมอกัน ทำให้การต่อไม้แบบ Horizontal Butt Joint สามารถตอบสนองต่อความต้องการนี้ ในการต่อไม้แบบ Butt Joint ยังต้องมีการขึ้นฟันไม้เป็นซี่ๆเหมือน Finger Joint เหมือนเดิมเพราะเป็นการเพิ่มพื้นที่จับยึดให้แก่ไม้ทั้งสองท่อน แต่เป็นการทำในแนวนอนและมีการบากตรงส่วนหน้าไม้ให้เป็นบ่าหรือไม่มีซี่ 

รอยบ่านี้จะมีความลึกอยู่ไม่ต่ำกว่า 3 มม. และเมื่อนำไปใช้ทำให้สามารถผ่านกระบานการขัดได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งถ้าเกิดไม่มีรอยบ่านี้เมื่อนำมาผ่านกระบานการขัด ซึ่งโดยธรรมชาติจะไม่สามารถขัดเอาผิวไม้ออกไปได้เท่ากันตามแนวระนาบจริงๆ อีกทั้งรอยต่อที่ผิวหน้าก็มักจะมองเห็นเป็นแนวไม่ตรง ทำให้งานออกมาไม่เรียบร้อย แตกต่างจากการต่อไม้แบบ Vertical Finger Joint จะมีการเปิดเผยรอยฟันของการต่อไม้มาบนพื้นผิว ซึ่งแม้จะต้องมาผ่านกระบวนการขัดและทำสีก็ไม่เป็นไร เพราะรอยฟันในการต่อจะยังอยู่เหมือนเดิม 

ไม้ที่ทำการต่อด้วยวิธี Vertical Finger Joint และ Horizontal Butt Joint สามารถนำไปทำเป็นไม้ประสานตามขนาดความกว้างที่ต้องการได้อีกทางหนึ่งอีกด้วย เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาด ทั้งยังเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ชิ้นงานอีกด้วย เนื่องจากไม้ที่ทำการประสานแล้วจะมีความแข็งแรงทนทานต่อการรับน้ำหนักได้ดีกว่า solidwood

ไม้ประสาน ( Laminated Timber ) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผลิตจากการนำไม้ชิ้นเล็กๆ มาประกอบกันด้วยกาว โดยให้เสี้ยนไม้ของชิ้นที่ติดอยู่ในแนวเดียวกัน 

กาวที่ใช้ประสาน ได้แก่ กาวลาเท็กซ์ชนิดพิเศษ กาวยูเรีย ฟอร์มัลดีไฮด์ กาวเมลานีน  ยูเรีย กาวฟินนอล กาวอีพอกซี กาวรีซอสซินอล กาวโพลีไวนีลยูรีเทน เป็นต้น การเลือกใช้กาวขึ้นอยู่กับการใช้งานของไม้ประสาน และความแข็งแรงที่ต้องการ กาวที่แข็งเกินไปอาจจะทำใบมีดหรือกระดาษทรายสึกหรอได้ง่าย

สำหรับไม้ยางพาราซึ่งเป็นไม้โตเร็ว มีตำหนิมาจากตา การโก่ง บิดงอ การประสานจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมที่ทำไม้เป็นแผ่นใหญ่หรือท่อนยาวเพื่อที่นำไปทำการแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น หน้าโต๊ะ ตู้ พนังเตียง พื้นบันได เป็นต้น

สำหรับหน้าโต๊ะที่ใช้ไม้ยางพาราประสาน ไม่ว่าจะเป็นการผลิต โต๊ะโรงอาหาร โต๊ะนักเรียน  หรือ เฟอร์นิเจอร์อื่นๆที่มีการใช้แผ่นไม้ยางพาราประสานนี้ จึงมั่นใจได้ว่า มันจะมีความแข็งแรง ทนทาน และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น